การขยายฐานการผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

ประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญกับพลังงานทางเลือกอื่นๆนอกจากพลังงานจากฟอสซิล ในนโยบายแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปีของกระทรวงพลังงานที่มุ่งเน้นให้ประเทศไทยใช้พลังงานทางเลือกเพื่อทดแทนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ จึงมีแผนธุรกิจที่มุ่งไปในด้านเทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงานและผลิตพลังงานทดแทน ประเทศไทยได้เริ่มมีการบุกเบิกพลังงานทดแทนที่เป็นพลังงานสะอาดอย่างเป็นจริงเป็นจัง เป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนด้วย เนื่องจากสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้มากถึง 6,270-7,200 ตันต่อปี

ประเทศไทยมีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากกว่า 10,000 เมกะวัตต์

ขณะที่ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วยังไม่ถึง 400 เมกะวัตต์ ดังนั้นโอกาสในการเติบโตของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีอีกมาก และกล่าวได้ว่าเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 10 ปีที่กำหนดไว้เพียง 2,000 เมกะวัตต์ การลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่นั้นหลังจากกระทรวงพลังงานหยุดรับซื้อไฟฟ้าไปเมื่อช่วงกลางปี 2553 เพื่อศึกษารูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าใหม่ เป็นระยะเวลา 10 ปี เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนจริงหรือ Feed-in Tariff ในระยะเวลา 25 ปี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาของหลายฝ่ายว่าจะอยู่ในอัตราใด

อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า พลังงานแสงอาทิตย์จะเข้ามามีบทบาทและใช้กันอย่างแพร่หลายในสังคมไทย จนทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตามบ้านเรือนจะมีแผงโซล่าเซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง แต่ละครัวเรือนมากขึ้น ซึ่งอาจจะมาใกล้เคียงกับรถเสียบปั๊ก และอาจมีทีเก็บพลังงานไว้ใช้ในอนาคตเทคโนโลยีจะทันสมัยมากยิ่งขึ้น และราคาต้นทุนอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตพลังงานจะลดต่ำลงมาก ทั้งนี้พลังงานแสงอาทิตย์ถือว่าเหมาะกับประเทศไทย แต่ปัจจุบันยังไม่ได้นำมาใช้อย่างเต็มที่ ดังนั้นรัฐควรส่งเสริม เนื่องเพราะกระบวนการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ไม่ยุ่งยาก ไม่จำเป็นต้องมีฐานการผลิตอย่างอื่นก็สามารถทำได้ เพียงมีพื้นที่ที่เหมาะสม และยังไม่ต้องพึ่งทรัพยากร อย่างถ่านหิน, ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ

การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยังได้พลังงานไม่แน่นอน

ขึ้นกับความเข้มของแสงแดดซึ่งควบคุมไม่ได้ และถ้าต้องการผลิตไฟฟ้ามากๆก็จำเป็นต้องใช้ที่ดินมาก ดังนั้นนับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่เราจะใช้แต่พลังงานแสงอาทิตย์อย่างเดียว คงต้องผสมผสานกับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทอื่นด้วย เพื่อที่เราจะสามารถผสมผสานการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงต่างๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศได้มากที่สุด เนื่องจากพลังงานแสงอาทิตย์นับเป็นพลังงานหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการนำมาแปลงให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยมองว่าเป็นพลังงานทดแทนที่สะอาด ใช้แล้วไม่หมดไป จึงไม่แปลกที่พลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นที่นิยมให้บริษัทต่างๆด้านพลังงานหันมาลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์