เซลล์แสงอาทิตย์ไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย

เซลล์แสงอาทิตย์ไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย

จุดอ่อนที่ทำให้ระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ไม่แพร่หลายในประเทศไทยนั้น  มีหลายปัจจัยผสมกันที่พอจะลองลำดับมาให้ได้เห็นกัน อย่างนี้

  1. ราคาสูงจึงใช้เงินลงทุนสูง
    ราคาของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เป็นอุปกรณ์หลักของระบบที่แม้จะผลิตได้ในประเทศแล้วแต่ก็ยังต้องพึ่งพิงวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีอยู่น้อยรายในขณะที่ความต้องการในตลาดมีอยู่มากเพราะนำไปใช้ได้ในอุตสาหกรรมหลายแขนงจึงมีราคาสูงและทำให้ราคาของระบบสุดท้ายสูงตามขึ้นไปด้วย
  2. ข้อจำกัดทางเทคนิคของระบบมีอยู่ค่อนข้างมาก
    ระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์มีข้อจำกัดทางเทคนิคอยู่หลายประการที่เป็นเสมือนจุดอ่อนซึ่งทำให้ไม่เหมาะสมนักที่จะเป็นระบบหลักในการผลิตไฟฟ้าแบบที่จะคาดหวังได้ว่าจะพึ่งตัวเองได้อย่างเบ็ดเสร็จและสนองความต้องการได้ทุกประการ
  3. มีสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางเลือกอื่นๆอยู่แล้วรวมทั้งสินค้าทดแทนใหม่อื่นๆ
    ไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคจำเป็น จึงมีการลงทุนและขยายงานด้านนี้โดยภาครัฐผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและฝ่ายจำหน่าย คือการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอย่างกว้างขวาง มีการกระจายระบบจำหน่ายไฟฟ้าออกไปค่อนข้างทั่วถึง กล่าวคืออยู่ในระดับสูงกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องการใช้ไฟ  สำหรับพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงก็ใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือเครื่องปั่นไฟมาผลิตไฟฟ้าทั้งโดยรัฐหรือผู้ใช้แต่ละรายเอง  เป็นส่วนใหญ่  เว้นแต่บางพื้นที่ที่มีความเหมาะสมอย่างอื่นสูงกว่า
  4. พฤติกรรมผู้บริโภคไม่สอดรับกับระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์
    ในส่วนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีผลต่อการที่จะทำให้ระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แพร่หลายในประเทศไทยหรือไม่นั้น
  5. ความไม่พร้อมของอุปกรณ์ควบคุมระบบ
    การผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์จำเป็นที่จะต้องมีอุปกรณ์ควบคุมระบบที่สำคัญขึ้นอยู่กับรูปแบบหรือลักษณะการติดตั้ง หากเป็นชนิดติดตั้งอิสระ ซึ่งจะมีอุปกรณ์ควบคุมระบบ 3 รายการ คือ เครื่องควบคุมการประจุแบตเตอรี่แบตเตอรี่ ชนิดที่มีความสามารถในการคายประจุสูง และ เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าจากไฟฟ้ากระแสตรงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ แต่หากเป็นชนิดติดตั้งแบบเชื่อมโยงกับระบบผลิตไฟฟ้าปกติ จะเหลืออุปกรณ์ควบคุมระบบเฉพาะเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าคืออินเวอร์เตอร์ เท่านั้น
  6. ลักษณะเฉพาะของอุปกรณ์ไฟฟ้าบางชนิดที่ไม่สอดคล้องกับระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์
    โดยที่กล่าวแล้วว่าระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์เป็นระบบผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ดังนั้นจึงย่อมไม่เหมาะกับอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่กินกระแสสูง โดยเฉพาะกระแสในขณะเริ่มเดินเครื่อง เครื่องใช้ไฟฟ้าดังกล่าวเช่น เครื่องปรับอากาศ ปั๊มน้ำ หรือมอเตอร์ในลักษณะต่างๆ
  7. การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องหรือประยุกต์ใช้งานลักษณะอื่นๆยังมีน้อย
    ผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่พบเห็นค่อนข้างมากคือชุดโคมไฟส่องสว่าง ไฟสัญญาณ ซึ่งคล่องตัวในการติดตั้ง เคลื่อนย้าย แต่มักจะมีจุดอ่อนในด้านความสวยงาม ขนาดและน้ำหนัก และประโยชน์ใช้สอยที่ยังไม่เสถียรนักอันเนื่องจากอุปกรณ์ควบคุมระบบที่หากมีการพัฒนายิ่งขึ้น ความนิยมก็น่าจะเพิ่มขึ้นได้ไม่ยาก
  8. ความรู้จักแพร่หลายของระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องมีอยู่น้อยมาก
    อาจกล่าวได้ว่าความรู้ความเข้าใจถึงคุณลักษณะและประโยชน์ใช้สอยของเซลล์หรือแผงเซลล์แสงอาทิตย์ตลอดจนหลักการผลิตไฟฟ้าโดยระบบนี้มีอยู่น้อยมาก แทบไม่มีการเรียนการสอนไม่ว่าในระดับใดๆทั้งสิ้น คนที่พอรู้และเข้าใจการทำงานของระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์กระจุกตัวอยู่ในวงแคบๆ
  9. การขาดนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ที่มีความเป็นไปได้ ชัดเจน  มั่นคง  และต่อเนื่อง
    ทิศทางในด้านพลังงานทดแทนในประเทศไทยแทบจะเป็นไปในเชิงรับไปตามแต่ละสถานการณ์   ความที่ติดอยู่ในกับดักของปัญหาเฉพาะหน้าด้านน้ำมันที่เป็นปัญหาพลังงานในภาคเชื้อเพลิงและขนส่ง  จึงอาจลืมคิดถึงปัญหาของพลังงานภาคไฟฟ้าที่ได้เกิดขึ้นแล้วและจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต
    ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนโดยเทคโนโลยี่ใหม่ๆส่วนใหญ่จะมีต้นทุนสูงกว่าระบบผลิตไฟฟ้าปกติ  อาจทั้งเพราะขนาดในการผลิตไม่ถึงเกณฑ์ที่จะทำให้ต้นทุนถูกลงไปถึงขั้นที่ถูกที่สุดด้วยข้อจำกัดที่เป็นเรื่องใหม่หรือสินค้าใหม่ของตลาด  และค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาที่ยังต้องถมลงไปอีกมากมาย และนานาประการ  ก้าวเดินของพลังงานทดแทนทั่วโลกจึงมีวิวัฒนาการคล้ายๆกันที่ภาครัฐจะต้องก้าวลงมาผลักดันและสร้างแรงจูงใจในระยะเริ่มต้น   จนกว่าอุตสาหกรรมจะปรับตนเองโดยกลไกตลาดให้เดินได้ด้วยตนเองได้แล้ว   จึงจะค่อยๆถอยออกไป